ศิลป์น้ำฟ้า ชนาลัย


             ศิลปะ คือชีวิตของข้าพเจ้า การไม่มีโอกาสร่ำเรียนหรือจบการศึกษาจากสถาบันศิลปะที่มีใบแสดงคุณวุฒิ ไม่ใช่กำแพงปิดกั้นการสร้างสรรค์งานศิลป์  การเป็นครูนับว่าเป็นโอกาสดีที่สามารถบูรณาการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อใช้ใน การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน  ข้าพเจ้าสอนศิลปะและการงานอาชีพมาตลอดการรับราชการ ศิลปะคือองค์ประกอบหนึ่งของสาระการเรียนรู้การงาน(งานประดิษฐ์) ฉะนั้น การสอนศิลปะจึงสามารถประยุกต์นำไปสู่การสร้างงานอาชีพได้เป็นอย่างดีใน ลักษณะของงาน “ประยุกต์ศิลป์” งานศิลป์ที่สร้างสรรค์ทั้งหมดของข้าพเจ้า จึงเกิดจากพลังที่รักงานด้านนี้ “ ศิลป์น้ำฟ้า ชนาลัย” นำเสนองานศิลปะเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะของการนำไปใช้ประโยชน์ คือ
           1. ศิลปะบนกระจกใส เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติ นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือน ใช้เป็นของขวัญของที่ระลึกได้
           2. จิตรกรรมไทยพวน เป็นงานเขียนภาพด้วยสีอะคริลิคบนผนังปูน เนื้อหาย้อนวิถีชีวิตของคนไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง  รู้ประวัติความเป็นมารากเง้าบรรพชน และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป
           3. ศิลปะสื่อประสมเพื่อการศึกษา เป็นงานศิลป์ที่ทำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
           4.  ลายสังคโลกที่รั้วโรงเรียน เป็นงานศิลปะเพื่อจุดประสงค์เสริมสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนสามารถใช้เป็น แหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น
           5. วิถีไทยพวนบนเครื่องสังคโลก  เป็นงานประยุกต์ศิลป์ที่นำวิถีชีวิตไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว เขียนภาพลายเส้นลงบนเครื่องสังคโลก นำไปเผาแบบสังคโลก
           6. ของที่ระลึกวิถีชีวิตไทยพวนเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติ เพื่อการผลิตของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์ของหาดเสี้ยว 
           7.  ลายสังคโลกประยุกต์ เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่การผลิตชิ้นงานเพื่อนำไปจำหน่ายในชุมชนสามารถนำไปประกอบอาชีพ ได้




       "ศิลปะ บนกระจกใส"  เป็นคำที่ข้าพเจ้ากำหนดขึ้นเองตามลักษณะของงานศิลปะที่มีเนื้อหาของงานอยู่ บนกระจกใส  ศิลปะบนกระจกใสนี้ เป็นงานศิลปะที่ข้าพเจ้าได้ทำวิจัยไว้เมื่อในปี พ.ศ. 2534  เป็นงานศิลปะที่ใช้เวลาสะสมประสบการณ์ในการสร้างงานนับสิบปี  จากการลองผิดลองถูก โดยได้รับแนวคิดจากงานเขียนสีบนกระจกใสของนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา   เมื่อค้นพบเทคนิคในการสร้างสรรค์งานจึงได้พัฒนางานขึ้นมาเป็นลำดับ  นำไปประกอบอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดีและได้นำเนื้อหา “ศิลปะบนกระจกใส” สู่การทำผลงานวิชาการใน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยการดัดแปลงเทคนิคและเนื้อหาที่เหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียน  ศิลปะบนกระจกใสที่นำมาแสดงนี้ เป็นผลงานระดับบุคคลทั่วไปที่สามารถเรียนรู้ได้  เป็นผลงานบางส่วนที่สะสมทำไว้  ถ้าท่านใดสนใจและต้องการจะสร้างสรรค์งาน ข้าพเจ้ายินดีแผยแพร่ผลงานนี้




แรงบันดาลใจ
            ทุก ครั้งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินผ่านบริเวณใต้ถุนอาคาร 4  ซึ่งทางโรงเรียนเมืองเชลียงใช้เป็นห้องประชุมนักเรียน ใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือกิจกรรมพิเศษต่างๆ  ตลอดจนในแต่ละปี ใต้ถุนอาคาร 4 นี้ ถูกใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของหน่ายงานอื่นๆ ทั้งของทางราชการและองค์กรของเอกชน  จึงนับว่าเป็นใต้ถุนอาคาร 4  นี้ถูกใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์ที่ใช้งานอย่างคุ้มค่า  แต่ละวันในชั่วโมงแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน ชั่วโมงแนะแนวหรือในชั่วโมงว่างของนักเรียน มักจะพบเห็นกลุ่มนักเรียนทั้งชายหญิงมานั่งทำการบ้าน ทำกิจกรรมตามที่ครูมอบหมายตลอด  ใต้ถุนอาคาร 4 ไม่เคยเหงา เพราะนักเรียนหมุนเวียนมานั่งทำกิจกรรมที่นี่ตลอดทั้งวัน เนื่องด้วยบริเวณที่ตั้งของอาคาร 4  อยู่ทางทิศใต้ชิดกับเขตของโรงเรียน ห่างจากตัวอาคารประมาณ 8 เมตร  เมื่อมองจากใต้ถุนอาคาร 4  จึงมองเห็นแนวรั้วสีขาวสะอาดทอดยาวขนานไปกับความยาวของอาคาร  ความยาวของรั้วโรงเรียนนับเป็นช่องรั้วทั้งหมด 30 กว่าช่อง  ด้วยนิสัยที่ไม่อยู่นิ่งและเป็นคนชอบงานศิลปะ  จึงเกิดแนวคิดว่า ที่รั้วของโรงเรียนควรจะมีรูปอะไรสวยๆที่จะช่วยให้ผนังรั้วที่ว่างเปล่ามี สีสันจืดชืดกลับกลายมาเป็นผนังรั้วที่มีสีสันและสามารถใช้เป็นแหล่งรู้ด้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ในขณะนั้นข้าพเจ้ากำลังเก็บหาข้อมูลเรื่อง ลายสังคโลกเพื่อทำงานวิจัยประกอบการเรียนปริญญาโทและกำลังทดลองใช้ชุด กิจกรรม การจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรม เรื่องการเขียนลายสังคโลก  จึงได้ใช้โอกาสดังกล่าวคัดเลือกรูปแบบสังคโลกและลายสังคโลก จากเอกสาร หนังสือหลายเล่มเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีส่วนร่วมในการเขียนภาพ โดยข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนโครงสร้างของภาพทั้งหมด และมอบหมายงานให้นักเรียนช่วยกันระบายสีในส่วนที่ลงทึบด้วยสีดำ ในวันนี้จึง มีภาพสังคโลกพร้อมการเขียนอธิบายชื่อเครื่องสังคโลกและลายอย่างสั้นๆ  ชื่อลายสังคโลกเรียกตามหนังสือ ของกฤษฎา  พิณศรี ที่เป็นที่ยอมรับ และบางลายเรียกตามชื่อที่ช่างเขียนลายสังคโลกในจังหวัดสุโขทัยใช้เรียกกัน

วัตถุประสงค์
     1. เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องสังคโลกและลายสังคโลก
     2. เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิทัศน์บริเวณใต้ถุนอาคาร 4 ให้สวยงาม รื่นรมย์
     3. เพื่อการปลูกฝังให้นักเรียนเห็นคุณค่าภูมิปัญญาชุมชน
เนื้อหาของการเขียนภาพสังคโลกและลายสังคโลก
            การ เลือกเนื้อหาของสังคโลกและลายสังคโลกที่เขียนลงบนรั้วโรงเรียน เน้นลาย ที่พบหลักฐานปรากฏอยู่บนจานสังคโลกโบราณโดยใช้เทคนิคการเขียนแบบตานกมอง(มอง จากด้านบน) ใช้หลักการเลียนแบบลายที่ปรากฏอยู่บนเครื่องสังคโลกจริงทุกประการ  สลับกับเครื่องใช้สังคโลกประเภทต่างๆ ใช้การเขียนมองด้านข้างเห็นเป็นมิติของรูปทรง ที่มีการขุดค้นพบจริงมีที่มาของข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้  ภาพเขียนเครื่องสังคโลกมีดังนี้