บทความทางวิชาการ

ประยุกต์การจัดการเรียนรู้ด้วยทักษะการปฏิบัติของเดวีส์สู่การออกแบบชุดกิจกรรม

... ...พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 22 กำหนดแนวทางจัดการศึกษาไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักการว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุด ฉะนั้น ครูผู้สอน ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตนเอง จากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ไปเป็นผู้วางแผน ผู้ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ประการสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ครูต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านต่างๆ ศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการและวิธีการเรียนรู้หลายรูปแบบ ควรเลือกใช้รูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เน้นการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และใช้หลักการเรียยรู้แบบบูรณาการ ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการเรียนรู้ การเรียนรู้คู่คุณธรรม ไม่ลืมนำกระบวนการจัดการ กระบวนการคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาสอดแทรกในการจัดการเรียนรู้
.....ใน บทบาทการทำหน้าที่ของความเป็นครูมืออาชีพ ในยุคของการปฏิรูปการศึกษา เราเป็นครู ควรพัฒนาตนให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ที่ครูควรปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง แนวทางการจัดการศึกษาที่ยึดหลักให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่สำคัญที่สุด ซึงหมายถึง การให้ความสำคัญของผู้เรียนเป็นอันดับหนึ่ง และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนยกลาง ์ จำเป็นต้องอาศัยหลักการ รูปแบบการเรียนการสอนวิธีการสอนและเทคนิคการสอนที่หลากหลายเข้าไปช่วย พัฒนาการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้มีอยู่มากมาย ก่อนการนำมาใช้ ครูควรศึกษาหลักการ ทฤษฎี ขั้นตอน ของแต่ละกระบวนการให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะแต่ละกระบวนการเรียนรู้ มีหลักการและแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน เมื่อนำมาใช้ หรือประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระ ในส่วนที่ตนรับผิดชอบสอน เพราะธรรมชาติของแต่ละวิชา ย่อมมีความแตกต่างกัน
......... รูปแบบการเรียนการสอนที่ครูนำมาใช้ หรือประยุกต์ใช้ ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นในต่างประเทศ ที่ผ่านกระบวนการวิจัยตามหลักการ ซึ่งได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนกันอย่างกว้างขวางพอ สมควร ในขณะเดียวกันได้มีนัดคิด นักการศึกษา และครูอาจารย์ ผู้มีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้จำนวนหนึ่ง ได้พยายามคิดค้นหรือพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนขึ้นจากความรู้ ความคิดและประสบการณ์ของตน ของนักวิชาการไทยที่ครูนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ส่วนหนึ่ง ในโอกาสนี้เป็นการนำกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นทักษะการปฏิบัติงาน เพื่อ ให้ครูผู้สอนที่สอนเนื้อหาวิชาที่เน้นทักษะการปฏิบัติงาน ใช้เป็นแนวทางจัดการเรียนรู้ เพื่อผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นต่อไป
............. รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะพิสัย (psycho-Motor Domain) เป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอนที่เป็นสากล ี้เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งช่วยพัฒนาความสามารถของผู้เรียนในด้านการ ปฏิบัติ การกระทำ หรือการแสดงออกต่างๆ ซึ่งมีหลักการ วิธีการ ที่แตกต่างไปจากการพัฒนาทางด้านจิตพิสัยหรือพุทธิพิสัย รูปแบบที่สามารถนำไปใช้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทางด้านทักษะพิสัย มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบย่อย ดังนี้
1.รูปแบบการเรียน การสอนตามแนวคิดการพัฒนาทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซัน(Simpsop ) 2. รูปแบบการสอนทักษะปฏิบัติของแฮร์โรว์ (Harrow ) 3. รูปแบบการเรียนการสอนทักษะปฏิบัติของเดวีส์ (Davies) รูปแบบการเรียนการสอนทั้ง 3 แบบนี้ มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ในที่นี้ จะมุ่งเน้นรูปแบบการเรียนการสอนที่ 3 คือ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะปฏิบัติของเดวีส์ (Davies) อันดับแรก ครูควรทำความเข้าใจ ทฤษฎี หลักการ แนวคิดของรูปแบบ วัตถุประสงค์ และขั้นตอน ตามแนวปฏิบัตินี้เสียก่อน ซึ่งมีดังนี้

ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
..........Davies ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการปฏิบัติไว้ว่า ทักษะส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยทักษะย่อยๆ จำนวนมาก การฝึกให้ผู้เรียนสามารถทำทักษะย่อยๆ เหล่านั้นได้ก่อนแล้วค่อยเชื่อมโยงต่อกันเป็นทักษะใหญ่ จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จได้ดีและรวดเเร็วขึ้น

วัตถุประสงค์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้
.....รูปแบบนี้ช่วยพัฒนาความสามารถด้านทักษะปฏิบัติของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะที่ประกอบด้วยทักษะย่อยจำนวนมาก

ขั้นตอนของกระบวนการ

.....ขั้นตอนที่ 1 ขั้น สาธิตทักษะหรือการกระทำ ขั้นนี้เป็นขั้นที่ให้ผู้เรียนได้เห็นทักษะหรือการกระทำที่ต้องการให้ผู้ เรียนทำได้ในภาพรวม โดยการสาธิตให้ผู้เรียนได้ดูทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ของทักษะหรือการกระทำที่สาธิตให้ผู้เรียนดูนั้น จะเป็นลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ไม่ช้าหรือเร็วเกินปกติ ก่อนการสาธิต ครูควรแนะนำให้ผู้เรียนสังเกต ควรชี้แนะจุดสำคัญที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษในขณะที่สังเกต
.....ขั้นตอนที่ 2 ขั้น สาธิตและให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติทักษะย่อยๆ ซึ่งเมื่อผู้เรียนได้เห็นภาพรวมของการกระทำหรือทักษะทั้งหมดแล้ว ผู้สอนควรวิเคราะห์ทักษะย่อยๆ หรือแบ่งสิ่งที่กระทำออกเป็นส่วนย่อยๆ และสาธิตส่วนย่อยแต่ละส่วนให้ผู้เรียนสังเกต และทำตามไปทีละส่วนอย่างช้าๆ
.....ขั้นที่ตอน 3 ขั้น ผู้เรียนปฏิบัติทักษะย่อย ผู้เรียนลงมือปฏิบัติทักษะย่อย โดยไม่มีการสาธิตหรือมีแบบอย่างให้ดู หากติดขัดจุดใด ผู้สอนควรให้คำชี้แนะ และช่วยแก้ไขจนกระทั่งผู้เรียนทำได้ เมื่อได้แล้วผู้สอนจึงเริ่มสาธิตทักษะย่อยส่วนต่อไป และให้ผู้เรียนปฏิบัติทักษะย่อยนั้นจนได้ ทำเช่นนี้เรื่องไปจนกระทั่งครบทุกส่วน
.....ขั้นตอนที่ 4 ขั้น ใช้เทคนิควิธีการ เมื่อผู้เรียนปฏิบัติได้แล้ว ผู้สอนอาจแนะนำเทคนิควิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำงานนั้นได้ดีขึ้น เช่น ทำได้ประณีตสวยงามขึ้น ทำได้รวดเร็วขึ้น ทำได้ง่ายขึ้น หรือสิ้นเปลืองน้อยลงเป็นต้น
.....ขั้นตอนที่ 5 ขั้น ให้ผู้เรียนเชื่อมโยงทักษะย่อยๆ เป็นทักษะที่สมบูรณ์ เมื่อผู้เรียนสามารถปฏิบัติแต่ละส่วนได้แล้ว จึงให้ผู้เรียนปฏิบัติทักษะย่อยๆ ต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ และฝึกปฏิบัติหลายๆครั้ง ต่อเนื่องกันหลาเที่ยว จนกระทั่งสามารถปฏิบัติทักษะที่สมบูรณ์ได้อย่างชำนาญ

จะออกแบบสร้างชุดกิจกรรมโดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีทักษะปฎิบัติของเดวีส์ได้อย่างไร
       การสร้างชุดกิจกรรมไม่ใช้เรื่องยากสำหรับคุณครู ลำดับขั้นตอนของการสร้างมีดังนี้
1. ศึกษาพระราชบัญญัติการปฏิรูปการศึกษา พุทธศักราช 2542 เพื่อให้เข้าใจหลักการและแนวทางจัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้
2. ศึกษา หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศัราช 2542 ในส่วนที่เป็นเป้าหมาย  หลักการ วิสัยทัศน์ คุณภาพของผู้เรียนและธรรมชาติของวิชาในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี
3. ศึกษา วิเคราะห์ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนด้วยทักษะปฏิบัติของนักวิชาการต่างๆ เพื่อเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดในเนื้อหาที่ครูนำมาสร้างชุดกิจกรรม
4.  ศึกษารูปแบบ หลักการออกแบบ สร้างชุดกิจกรรม จากหนังสือ ศึกษาตัวอย่าง สอบถามผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
5. กำหนดกรอบของเนื้อหา เวลาเรียน 
6. ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้อง  นำไปทดลองใช้ เพื่อหาจุดบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อนำไปสู่การจัดทำผลงานวิชาการต่อไป
................. สิ่งสำคัญที่ครูจะขาดไม่ได้คือ  ต้องทำคู่มือครูซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ทราบว่า แนวการจัดการเรียนรู้ในเนื้อหาที่นำมาสร้างชุดกิจกรรมนั้น  วางแผนจัดการเรียนรู้อย่างไร  ใช้สื่ออะไร  มีหลักการวัดและประเมินผลอย่างไรบ้าง
.......... เพื่อให้ครูผู้สอนเข้าใจการนำรูปแบบการเรียนการสอนทักษะปฏิบัติของเดวีส์ (Davies)ไปใช้ ออกแบบนวัตกรรมจัดทำชุดกิจกรรมได้ จะยกตัวอย่างของการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การเขียนลายสังคโลก ซึ่งผู้เขียนกำหนดเป็นเนื้อหาหน่วยหนึ่งของรายวิชาการเขียนลายสังคโลก ประยุกต์  โดยมีขั้นตอนดังนี้ วิเคราะห์ลายสังคโลกที่เขียนอยู่บนเครื่องปั้นดินเผานั้น ซึ่งสามารถแยกลาย ย่อยออกได้เป็นจำนวนมาก  คือ  ประกอบด้วย  เส้นตรงต่างๆ เส้นโค้งคลื่นนำ ้ ลายใบไม้  ลายดอกไม้ ลายไทยปรยุกต์  ลายปลา ลายนก  ลายหอยสังข์  จะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้นักเรียนเขียนลายสังคโลกอย่างเต็มรูปแบบได้  เมื่อแบ่งเนื้อหาลายสังคโลกออกเป็นเนื้อหาย่อยได้แล้วขั้นต่อไปครูควรคำนึง ถึงหลักการเรียนรู้ตามหลักวิชาการ ด้วยการเรียงลำดับเนื้อหาจากง่ายไปหายาก  และวิเคราะห์กระบวนการที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในแต่ละเนื้อหาย่อยนั้น   ลักษณะธรรมชาติของหลักการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ที่เน้นทักษะการปฏิบัติงาน ครูผู้สอนควรเลือกก่อนว่าเนื้อหาที่นำมาสร้าง นวัตกรรมนั้น จะใช้หลักการให้ความรู้ก่อนการปฏิบัติงาน  หรือให้ความรู้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงาน  หรือจะเลือกใช้การปฏิบัติงานก่อน จึงมาให้ความรู้ทีหลัง  แต่โดยทั่วไปควรจะให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับหลักการ วัสดุอุปกรณ์และหลักการใช้ดูแลรักษา  จึงจะนำไปสู่การฝึกปฏิบัติงานจริง  เมื่อครูวิเคราะห์องค์ประกอบที่จะนำมาใช้ในการสร้างชุดกิจกรรมได้แล้ว  จะนำไปสู่การสร้างชุดกิจกรรม  เขียนคู่มือครู ประกอบด้วย คำนำ จุดประสงค์ แนวการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แนวการวัดและประเมินผล
 ชุดกิจกรรมเรื่อง การเขียนลายสังคโลกมีโครงสร้างของเนื้อหาดังนี
 หน่วย ที่ 1 เรื่องการเขียนเส้นโครงสร้างลายสังคโลก  หน่วยที่ 2 เรื่องการเขียนใบไม้แบบสังคโลก  หน่วยที่ 3 เรื่องการเขียนดอกไม้แบบสังคโลก  หน่วยที่4 เรื่องการเขียนลายหอยสังข์แบบสังคโลก  หน่วยที่ 5 เรื่องการเขียนลายนกแบบสังคโลก  หน่วยที่ 6 เรื่องการเขียนลายปลาแบบสังคโลก  หน่วยที่ 7 เรื่องการเขียนลายเถาดอกไม้แบบสังคโลก  หน่วยที่ 8 เรื่องการเขียนลายพันธุ์ไม้แบบสังคโลก  หน่วยที่ 9 เรื่องการเขียนลายสัตว์แบบสังคโลก    หน่วยที่ 10 เรื่องการเขียนลายสังคโลกตามอิสระ
.....รูปแบบการ เรียนการสอนทักษะปฏิบัติของเดวีส(Davies) นี้ ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้เป็นแนวการสอน ในสาระต่างๆ ได้ทุกสาระที่เน้นทักษะการปฏิบัติงาน โดยพิจารณาเนื้อหาที่จะสอนเป็นหลัก โดยเฉพาะ กลุ่มวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี สาระงานบ้าน ประดิษฐ์ งานช่างต่างๆ นี้ เนื้อหาส่วนใหญ่ สามารถใช้ทักษะปฏิบัติงานของเดวีสได้อย่างเหมาะสม หรือ ในกลุ่มวิชาสุขศึกษา และพลศึกษา สาระ การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทย และกีฬาสากล
.....อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในทุกสาระ ที่นำรูปแบบทักษะปฏิบัติงานของเดวีส(Davies)ไปใช้นั้น อย่าลืมว่า รูปแบบของกระบวนการเรียนการสอนที่สมบูรณ์ นั้น มีองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายประการที่ครูจะต้องนำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เช่นจิตวิทยาการสอน  บรรยากาศในการเรียนรู้ เป็นต้น จัดการจัดการเรียนรู้เป็นศาสตร์เป็นศิลป์อย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนจะ ใช้ความสามารถของตนเองได้อย่างไร  เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้สมบูรณ์มากที่สุด ส่งผลต่อ ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน เพื่อ สู่เป้าหมายตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้สอดคล้องและร้อยรัดกับผลการเรียนรู้ที่คาด หวัง ไปสู่เป้าหมายของมาตรฐานการเรียนรู้ตามสาระที่กำหนดไว้ ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
.............การจัดการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่ละเอียด และยังไม่มีผลการวิจัยใดๆ ที่พิสูจน์ได้ว่า กระบวนการสอนใดดีที่สุดมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนที่จะเรียนรู้และครูที่ทำ หน้าที่สอนแต่ละคนมี่ความแตกต่าง เป็นปัจเจกบุคคล กระบวนการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนคนหนึ่ง อาจไม่เหมาะสมสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้ ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ครู จะเลือกใช้หรือปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่มีผลต่อการเรียนรู้ เช่น พื้นฐานความรู้ของนักเรียน ทักษะความสามารถด้านการสอนของครู บุคลิกภาพของครูเป็นต้น เชื่อว่า ผู้ที่เป็นครูมืออาชีพ ย่อมเข้าใจและมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าว 


สอนภูมิปัญญาไทยต้องประยุกต์ ผู้เรียนสนุกและนำไปใช้ได้จริง

ความสำคัญของภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา         
      ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542  เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ประการสำคัญที่สุดที่กำหนดให้  ชุมชน  สังคม ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาใน  2 มาตรา  ดังต่อไปนี้
           มาตรา 23 ( 3) “การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย  ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา  ในเรื่องเกี่ยวกับความรู้  ศิลปะและวัฒนธรรม  การกีฬา 
ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา”
           มาตรา 27  “ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาเพื่อความเป็นไทย ความเป็นคนพลเมืองดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ  ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ
          ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตร  ตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและของประเทศชาติ
          นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544 )  ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาสังคม โดยให้ความสำคัญของท้องถิ่นและผู้คนใน 3 แนวทาง  ได้แก่
  1. การใช้พื้นที่เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงปัญหา (Area  approach)
  2. การมีองค์กรปฏิบัติงาน (Function) 
  3. การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation)
          แนวทางดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งให้ผู้ เรียนที่จะเจริญเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต  เป็นทั้งคนดี  คนเก่ง  และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขได้นั้น  ต้องอาศัยโรงเรียนเป็นฐาน เป็นพื้นหรือเครื่องมือเข้าถึงปัญหาในการบริหารจัดการศึกษา  และเป็นแกนนำที่สำคัญในการปฏิบัติงาน  โดยร่วมกับบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กร  ชุมชน  องค์กร-ปกครองส่วนท้องถิ่น  เอกชน  องค์กรเอกชน  องค์กรวิชาชีพ  สถาบันการศึกษา  สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น  เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน  มีการแสวงหาความรู้  ข้อมูล  ข่าวสาร  รู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีบุคลากรหลากหลายอาชีพที่มีความเก่ง ความสามารถ  ตลอดจนวิทยาการต่างๆ  ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน  ดังนั้น การจัดการศึกษายุคปฏิรูปการศึกษา  จึงต้องดึงเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น  ที่มีความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ เข้ามาสู่โรงเรียน  เพื่อให้ช่วยเหลือในการจัดการเรียนการสอน  ตลอดจนหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาระหว่างชุมชน
ประเด็นที่ท้าทายนักการศึกษา  ผู้บริหาร และ ครู – อาจารย์  อยู่ในขณะนี้ คือ เราจะดึงเอา
ภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมาใช้งานได้อย่างไร  และนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีคุณภาพได้ดีมากน้อยเพียงใด
ผลจากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบแรก (พ.ศ. 2544 – 2548 ) ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  จำนวน  30,010  แห่ง  มีผลสรุปออกมาได้ดังนี้
สรุปผลการสังเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา
ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (พ.ศ. 2544 – 2548)

ด้าน
 ได้มาตรฐาน
 ไม่ได้มาตรฐาน
ผู้เรียน
-ความเป็นคนดี มีคุณธรรม
  จริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์
-ความสุข มีสุขนิสัย สุขภาพกาย และ
  มีสุขภาพจิตที่ดี มีสุนทรียภาพและ
  ลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรี และ
  กีฬา
- มีความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ
- มีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร
- มีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
  รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
- มีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถ
  ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีเจตคติที่ดีต่อ
   อาชีพสุจริต
ผู้บริหาร
- ภาวะผู้นำและมีความสามารถในการ
  บริการจัดการ
- ความสัมพันธ์และความร่วมมือกับ
   ชุมชนในการพัฒนาการศึกษา
- การบริหารวิชาการ  โดยเฉพาะการมีหลักสูตร
  ที่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น  มีสื่อ
   การเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้
- การส่งเสริมกิจกรรม  และการเรียนการสอนที่
  เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ครู
- วุฒิการศึกษา
- ความเพียงพอของครู
- ความสามารถของครูในการจัดการการเรียน
  การสอนอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะ
  การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
   
      จาก ตารางผลการสังเคราะห์ การประเมินคุณภาพภายนอก ผลการประเมิน ด้านผู้บริหารพบว่า การบริหารวิชาการโดยเฉพาะกรณีการมีหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้อง ถิ่น ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ สมศ. แนวทางหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา พุทธศักราช 2542 การนำภูมิปัญญาไทย หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ก่อนอื่นครู ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ควรมีความรู้และความเข้าใจภูมิปัญญาไทย ก่อนเป็นอันดับแรก ดังนี้
       
       ประเภทของภูมิปัญญาไทย
        ..............ภูมิปัญญาไทยที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านแท้ๆ ที่คนไทยสืบทอดกันมาจวบจนปัจจุบันนี้  มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ดังนี้
1.ภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม  ได้แก่การใช้วัสดุธรรมชาติแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การใช้วัสดุธรรมชาติมาทำยาฆ่าแมลงและกำจัดวัชพืชในไร่ในนา
2.ภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรม  ได้แก่ การก่อสร้างโบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีความวิจิตรบรรจงสดสวยงดงามตามเอกลักษณ์ของชาติไทย  การก่อสร้างบ้านทรงไทยที่สามารถระบายความร้อนได้อย่างน่าอัศจรรย์
3.ภูมิปัญญาด้านงานหัตกรรม ได้แก่ การทำเครื่องปั้นดินเผา  การทำเครื่องเบญจรงค์  การจักสานย่านลิเภา  การทำเครื่องเครื่องทอง เครื่องทองเหลือง การทอผ้าแบบต่างๆ ฯลฯ
4.ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย  ได้แก่การใช้พืชสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคได้อย่างเหมาะสม การใช้สมุนไพรมาเสริมความงามของผู้หญิง
5.ภูมิปัญญาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ  ได้แก่พิธีบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ การบิณฑบาตป่าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
6.ภูมิปัญญาด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ได้แก่ การก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมหรือกองทุนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน  เช่น กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มแม่บ้าน  กลุ่มเกษตร กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์เป็นต้น
7.ภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม  ได้แก่ภาพวาด  จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ วิหาร อันแสดงถึงวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของคนไทยที่สัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
8.ภูมิปัญญาด้านวรรณกรรม  ได้แก่ ภาษาพูด  ภาษาเขียน  อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนไทย  รวมถึงสุภาษิต  คำพังเพย  โคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน
9.ภูมิปัญญาด้านปรัชญา ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี  ได้แก่  คำสอนของผู้ใหญ่ที่แฝงข้อคิดในการปฏิบัติตน  วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่งด งาม  ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย การพูดจาด้วยความมมีสัมมาคารวะต่อผู้อุโสหรือผู้ใหญ่ เป็นต้น
10.ภูมิปัญญาด้านโภชนาการ  ได้แก่การจัดปรุงอาหารคาวหวาน  การจัดแต่งอาหารให้สวยงามน่ารับประทาน
สิ่งที่กล่าวมาคือภูมิปัญญาไทยที่คนไทยทั้งชาติภาคภูมิใจ

วิกฤตภูมิปัญญาไทยในการศึกษาในปัจจุบัน
            เป็น ที่ทราบกันดีแล้วว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม ด้วยการติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็ว อยู่ในยุคของการบ่าไหลของอารยธรรมตะวันตกอย่างรวดเร็วและสะดวก ง่าย   ส่งผลให้ ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอและขาดความเป็นตัวของตัวเอง ของสังคมไทย  อันเนื่องมาจากการขาดความสมดุลแห่งการเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย เพราะถูกครอบงำด้วยอารยธรรมตะวันตก  มีผลทำให้ภูมิปัญญาไทยหายไปจากสังคมไทย  โดยมีภูมิปัญญาสากลเข้ามาแทน  การจัดการศึกษาในปัจจุบันมีเนื้อหาด้านภูมิปัญญาสากลมากกว่าภูมิปัญญาไทย  ภูมิปัญญาไทยในระบบการศึกษามีน้อยมาก  คนไทยไม่สนใจศึกษาภูมิปัญญาไทย เป็นผลทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤตทางปัญญา  ซึ่งเห็นได้ชัดเจน คือการพึ่งพาตนเองและแก้ปัญหาไม่ได้  เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าขณะนี้ภูมิปัญญาไทยมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคน ไทยในวงกว้าง  ความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม  สังคมเกษตรกรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตในอดีต  ภูมิปัญญาไทยขาดการยอมรับ  ขาดความภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มาในอดีต วิธีการดั้งเดิมถูกดูถูกดูแคลนว่าป่าเถื่อน  ไม่ทันสมัย ไม่ทัดเทียมกับอารยธรรมตะวันตก เช่น วิธีการแต่งกาย  การกินอยู่  ฯลฯ  ขาดความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของไทย  มีความเชื่อผิดๆ ว่าคนต่างชาติเก่งกว่าคนไทย ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานั้น ก่อให้เกิดความชะงักงัน หยุดการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาใหม่ๆ  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  ที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของชาติ  ต้องหันมามาร่วมมือกันระดมสมอง เพื่อหาแนวทางนำภูมิปัญญาไทยในทุกๆประเภทกลับคืนสู่สังคมไทย  โดยผ่านกระบวนการจัดการศึกษา  เพื่อปลูกฝังให้คนไทยรู้ซึ่งถึงคุณค่าของภูมิปัญญาไทย
            จาก การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำภูมิปัญญาชาวไทยมาใช้ในการพัฒนาหลัก สูตรและสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสถานศึกษา  จำนวน  4  เรื่อง คือ  รัตนา  บังสนธิ (2535 : บทคัดย่อ) เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น : กรณีศึกษาชุมชนแห่งหนึ่งในภาคกลางตอนล่าง  อังกูล  สมคะเน (2535 : บทคัดย่อ) เรื่องการศึกษาสภาพและปัญหาการนำภูมิปัญญามาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรใน โรงเรียนประถมศึกษา  เพ็ญจันทร์   ธวาวิภาศ (2536 : บทคัดย่อ) เรื่องสภาพและปัญหาของการพัฒนาหลักสูตรในโรงเรียนร่วมพัฒนาใช้หลักสูตร สังกัดกรมสามัญศึกษา  วิจิตร   ไชยศิลป์ (2537: บทคัดย่อ) เรื่องการสำรวจการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ตามหลักสูตรประถมศึกษาจังหวัดน่าน    รวบรวมสรุปปัญหาด้านการนำภูมิปัญญาไทยมาสู่กระบวนการจัดการศึกษาใน โรงเรียน เป็นข้อๆ ได้ดังนี้
          1.  ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญ และไม่สนับสนุน
          2.  ครูและผู้บริหารไม่มีความรู้เรื่องการนำภูมิปัญญาไทยมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
          3.  ขาดความพร้อมด้านสถานที่  วัสดุอุปกรณ์  งบประมาณไม่เพียงพอ
          4.  ขาดเอกสารและแหล่งความรู้สำหรับครูเพื่อศึกษาค้นคว้า
          5.  ครูไม่พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน เพราะภาระงานที่รับผิดชอบมาก
          6.  ในกรณีที่เชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้ มีปัญหาด้านต่างๆ เช่น การเดินทางไกล ขาดงบประมาณจ้าง  การเบิกจ่ายเงินล่าช้า และค่าตอบแทนต่ำ
          7.  ภูมิปัญญาขาดความทันสมัย ไม่ร่วมสมัย นักเรียนไม่สนใจและไม่เห็นคุณค่า
          8.  ภูมิปัญญาไทยบางประเภทมีปัญหาด้านการตลาด การบริหารจัดการ
          จากการรวบรวมสรุปปัญหา จะเห็นได้ว่า  ปัญหาทุกด้านที่รวบรวมจากงานวิจัยเป็นบางส่วนนี้  ส่วนใหญ่เป็นสภาพปัญหาที่ ทุกคนในองค์กรการศึกษาระดับหน่วยเล็กที่สุด  คือ โรงเรียนสามารถปรับแนวคิด  กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมมือกันร่วมหาแนวทางผสมผสานแนวคิด ทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีความคิดเข้าใจเชิงระบบมองโครงสร้างของการจัดการนำภูมิปัญญาไทยประเภท ต่างๆ ให้เข้าใจ เพื่อนำภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่นเข้า สู่การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
จะนำภูมิปัญญาไทยหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การจัดการเรียนการสอนอย่างไร
...................การนำภูมิปัญญาไทยหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน  มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีการ ครูผู้สอนสามารถจะดำเนินการในการพัฒนาหลักสูตรได้  5  ลักษณะ ดังนี้
.....ลักษณะที่ เป็น ลักษณะการปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเสริมให้สอดคล้องกับสภาพและ ความต้องการของท้องถิ่น โดยไม่ทำให้มาตรฐาน ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง คาบ-เวลาเปลี่ยนไปจากโครงสร้างที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถานศึกษา
.....ลักษณะที่ เป็น ลักษณะการปรับหรือเพิ่มรายละเอียดหัวข้อของเนื้อหา คือ การปรับเนื้อหา ด้วยการเพิ่มหรือลด หรือปรับรายละเอียดของเนื้อหา โดยไม่กระทบหลักสูตรแกนกลาง
.....ลักษณะที่ เป็น ลักษณะการปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน โดยการเพิ่มเติมตัดทอน  สื่อต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น จุดประสงค์และเนื้อหาที่หลักสูตรกำหนด
.....ลักษณะที่ เป็น การจัดทำสื่อการเรียนขึ้นมาใหม่ โดยจัดทำหนังสือเรียน คู่มือครู หนังสือเสริมประสบการณ์ แบบฝึกหัดและเอกสารประกอบการเรียนการสอน  ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เนื้อหาและสภาพท้องถิ่น โดยสอดแทรกอยู่ในสาระพื้นฐาน หรือสาระเพิ่มเติมได้ตามความต้องการ
.....ลักษณะที่ เป็น การจัดทำคำอธิบายรายวิชาเพิ่มเติมขึ้นใหม่  ในการนำภูมิปัญญาไทยสู่การจัดทำรายวิชาใหม่นี้ ควรทำความเข้าใจเรื่อง "แนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา" ว่า ท่านควรจะนำไปวางอยู่ในสาระพื้นฐาน หรือ สาระเพิ่มเติม แต่ในทางปฏิบัติที่เหมาะสมนั้น การจัดทำรายวิชาขึ้นมาใหม่ เหมาะสมกับการกำหนดไว้ในสาระเพิ่มเติม ในการจัดการศึกษา ช่วงชั้นที่ 2 ช่วงชั้นที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4 เป็นการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่เน้นภูมิปัญญาท้องถิ่น 
จากลักษณะที่ 1-4 ทำแล้วใช้สอนได้โดยการของความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานศึกษา  สำหรับลักษณะที่ 5 นี้ ทำเสร็จแล้วต้องเสนอให้ผู้ที่ได้รับการมอบหมายพิจารณาอนุมัติก่อนใช้ต่อ ไป....
............ การจะเลือกใช้วิธีการหรือแนวทางใด  คงเป็นหน้าที่ของครู ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จำเป็นที่จะต้องศึกษาหาข้อมูลว่า  จะนำหลักการหรือแนวทางลักษณะใดเพื่อนำภูมิปัญญาไทยสู่การเรียนการสอนได้ เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทที่อยู่รอบๆ โรงเรียนมากที่สุด   สิ่งที่จำเป็นในลำดับต่อไป คือ การศึกษาหาความรู้ ว่า การพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้มีเนื้อหาภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น  มีขั้นตอนการดำเนินงานหรือเทคนิคอย่างไร  ที่จะส่งผลทำให้ ได้หลักสูตรสถานศึกษาที่มีคุณภาพ  นำไปใช้จัดการเรียนการสอนและบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของการจัดการ ศึกษา  ตามแนวทางของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้อย่างบรรลุผล
ตัวอย่างการนำภูมิปัญญาไทยสู่การจัดการเรียนรู้ สาระเพิ่มเติม
แนวทางการประยุกต์ภูมิปัญญาไทยในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
            เมื่อ ครูทำความเข้าใจกับการหลักการ วิธีการพัฒนาหลักสูตร เพื่อนำภูมิปัญญาไทยมาสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว เราสามารถนำเนื้อหาภูมิปัญญาไทยที่ได้วิเคราะห์ข้อมูล ความเหมาะสมทุกด้านมาสู่การจัดการเรียนการสอนได้ทั้งในสาระพื้นฐาน  หรือสาระเพิ่มเติมได้  ประการสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่นำ ภูมิปัญญาไทยดั้งเดิม สู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อย่างได้ผลดีนั้น สิ่งที่ครูควรคำนึงถึง คือ ควรปรับภูมิปัญญาไทยให้มีความร่วมสมัย ขั้นตอนไม่ซับซ้อน มีความน่าสนใจ ที่นักเรียนอยากเรียนรู้   ครูผู้สอนควรประยุกต์รูปแบบ และควรจะเป็นผลงานที่สร้างความประทับใจของผู้พบเห็นทุกระดับด้วย 
เช่นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสาระเพิ่มเติม ในกลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบานสารจิตร  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัยเขต 2
เรื่อง การเขียนลายสังคโลกประยุกต์  ความ จำเป็นและความสำคัญของการนำเนื้อหา คือ เพื่อสืบสานงานเขียนลายสังคโลก ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป  และเพื่อตอบสนองความต้องการ ช่างเขียนลายสังคโลก ของชุมชนในท้องถิ่น ในบ้านป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่ประชาชนส่วนหนึ่ง  มีอาชีพการปั้นเครื่องสังคโลกเลียนแบบของโบราณ เพื่อผลิตเป็นที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว  การจัดการเรียนการสอนการเขียนลายสังคโลก ในโรงเรียนบ้านสารจิตร นั้น มีเป้าหมาย อยู่ 2 ประเด็น
          ประเด็นที่ 1 การนำทักษะที่ได้ นำไปเขียนลายบนเครื่องปั้นสังคโลก ที่มีกระบวนการปฏิบัติจริงตามรูปแบบของการสร้างสรรค์งาน  ซึ่งต้องใช้เวลาในการที่จะเห็นผลสำเร็จของการสอน ที่นักเรียนสามารถนำประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน
ประเด็นที่ การประยุกต์รูปแบบของการเขียนลายสังคโลก  โดยการ นำทักษะที่ได้ไปใช้ประโยชน์บูรณาการสร้างงานฝีมือได้อย่างหลากหลาย  เช่น
          1)  นำเทคนิคการเขียนลายสังคโลกเขียนลงเครื่องปั้นดินเผา(ชนิดเผาแดง) ที่มีขนาดเล็ก  ใช้ประโยชน์เป็นของที่ระลึก  เป็นของใช้ที่ใส่ปากกา  เป็นแจกัน  การบูรณาการลักษณะนี้  จะทำให้เกิดผลงานของนักเรียนที่สามารถ นำไปจำหน่ายได้ให้กับนักท่องเที่ยวได้ เพราะมีราคาถูก  ผลิตง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก
          2) นำเทคนิคการเขียนลายสังคโลก  ลงบนวัสดุต่างๆ เช่น บนแผ่นไม้  บนกระเบื้อง  หรือ จะประยุกต์เป็นการเขียนภาพบนกระจกใส 
          3) นำเทคนิคการเขียนลายสังคโลก  ประยุกต์การเขียนลายบนวัสดุโดยสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคเขียนลายสังคโลกบนพพื้น สีทอง  จะทำให้ได้ชิ้นงานที่ทันสมัย สวยงาม และจำหน่ายได้จริง
          รูปแบบการประยุกต์ การเขียนลายสังคโลก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนตั้งแต่สมัยสุโขทัย  จะได้รับการสืบทอดต่อไปสู่สังคมรุ่นหลัง  และยังช่วยสร้างสรรค์งานที่น่าประทับใจ  การประยุกต์ภูมิปัญญาไทยประเภทอื่นๆ ที่กล่าวมานั้น  ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถ ในการสร้างสรรค์งาน ของครูในยุคของการปฏิรูปการศึกษา
            ภูมิปัญญา ไทยที่บรรพบุรุษของเราได้คิดค้น เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านกระบวนการทดลองใช้ทดลองผลิตจนเป็นที่เชื่อถือ และสั่งสมสืบทอด เป็นมรดกทางปัญญาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ครูผู้สอน
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และคนไทยทุกคนควรร่วมมือกันสืบทอดภูมิปัญญาไทยอันมีคุณค่านี้ ให้อยู่กับสังคมไทย เพื่อพลิกฟื้น สังคม ศิลปะวัฒนธรรมที่กำลังถดถอย อันเนื่องมาจากการละเลยภูมิปัญญาไทย หันไปนิยมภูมิปัญญาสากล  ถึงเวลาแล้วใช่ไหม ที่ครูเราต้องประสานเป็นหนึ่งเดียวในการนำภูมิปัญญาไทยมาปรับประยุกต์ใช้ ร่วมสมัยให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน  สร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยให้กลับมาเคียงคู่กับภูมิปัญญาสากลอย่างลงตัว มีคุณค่า และภาคภูมิใจ


บทบาทของครูในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
............. การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  มีการกำหนดคำที่เรียกแตกต่างกัน เช่น  การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  การจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด นักวิชากาหรือใครๆจะเรียกหรือใช้คำ ที่แตกต่างกันตามความชอบแต่ความหมายไม่ได้แตกต่างกัน การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  
ถูกกำหนดแนวทางและหลักการไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาคนไทยให้คิดเป็นองค์รวม เรียนรู้ร่วมกันและทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นข้อด้อยของคนไทยโดยที่วัฒนธรรมมักจะหล่อหลอมให้คนไทยเก่งโดยปัจเจก บุคคล  เช่น การเก่งกีฬามวย  ว่ายน้ำ  ตีเทนนิส หรือมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ด้านต่างๆ สูง ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะช่วยพัฒนาบ้านเมือง ขณะนี้บ้านเมืองกำลังต้องการการผนึกกำลังให้คนในชาติหันหน้าเข้าหากันและทำ งานเป็นทีมเพื่อประโยชน์ของสังคมไทยโดยรวม โดยมีเป้าหมายให้คนไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์

ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

                พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 
มีผลให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ มีสาระสำคัญทั้งสิ้น 9 หมวด โดยเฉพาะหมวดที่ 4 แนวการจัดการศึกษาเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เมื่อศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาที่กำหนดไว้ในทุกหมวดจะมุ่งประโยชน์สูงสุดกับ ผู้เรียน
การปฏิรูปการเรียนรู้ถือเป็นหัวใจของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 
เป็นภารกิจที่มีกฎหมายรองรับ ครูอาจารย์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องต้องปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จตาม เจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช่นโยบายหรือแผนงานที่ใครทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ หรือจะเปลี่ยนแปลงได้ตามใจชอบของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหมือนอดีตที่ผ่านมา (คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2543 : 6-7)
ด้วยความจำเป็นดังกล่าว ครูและผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ต้องทบทวนบทบาทของตนว่า การจัดการเรียนการสอนที่ตนกำลังปฏิบัติอยู่นี้มีคุณภาพ ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพของสังคมไทยและสังคมโลกมากน้อยเพียงใด ภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  อันเป็นแม่บทของการจัดการศึกษาที่มุ่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะร่วมใจพร้อมกันปฏิรูปวัฒนธรรมการเรียนรู้ ด้วยจิต
ที่อาสาและด้วยใจรักในวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อเกิดผลทางการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ความหมายของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
                กระทรวง ศึกษาธิการ(2543  :  20)  ให้ความหมายการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการ การกำหนดจุดหมาย สาระ กิจกรรม แหล่งเรียนรู้ สื่อการเรียน และการวัดผลประเมินผล ที่มุ่งพัฒนาคน และ ชีวิต ให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้เต็มความสามารถ สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจและความต้องการของผู้เรียน  กรมวิชาการ (2544  :  5 –9) ให้ความหมายการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กล่าวไว้ว่า  การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึง  กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนได้จัดหรือดำเนินการให้สอดคล้องกับผู้เรียน ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล    ความสามารถทางปัญญา  วิธีการเรียนรู้  โดยบูรณาการคุณธรรม  ค่านิยมอันพึงประสงค์  ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติจริง ได้พัฒนากระบวนการคิด  วิเคราะห์  ศึกษา  ค้นคว้า  ทดลอง  และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  และแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง  ทั้งในและนอกห้องเรียน  มีการวัดผล  ประเมินผลตามสภาพจริง ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ตามมาตรฐานหลักสูตรที่กำหนด
ประสิทธิ์    เครือสิงห์ (2544  :  27 – 29) ได้กล่าวไว้ว่า  การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  หมายถึง การสอนที่เน้นการเรียน โดยเน้นให้ผู้เรียนได้เป็นผู้กระทำ  เป็นผู้แสดง เป็นผู้ดำเนินกิจกรรม  เรียนรู้ตามความถนัดและสนใจ  เรียนรู้จากการทำงานด้วยตนเอง  ตามหลักวิชาการที่ว่า  “เรียนรู้โดยการกระทำ”  อาจจะเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม 
วิเศษ   ชิณวงศ์  (2544  :  36) ให้ความหมายของกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญหมายถึง  การกำหนดจุดหมายของกิจกรรม  แหล่งเรียนรู้  การวัดและประเมินผล  ที่มุ่งพัฒนาคน ให้เกิดประสบการณ์  เพื่อการเรียนรู้ เต็มความสามารถ  สอดคล้องกับ  ความถนัด  ความสนใจและความต้องการของผู้เรียน  กิจกรรมการเรียน  คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  ครูเป็นผู้ปลุกเร้า และเสริมแรงนักเรียนในทุกกิจกรรม ให้ค้นพบคำตอบและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง รวมทั้งการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ปลูกฝังความมีระเบียบวินัย  รับผิดชอบการทำงาน  ฝึกการประเมินผลและปรับปรุงตนเอง  ยอมรับผู้อื่นสร้างจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองและพลโลก 
                เมื่อ นำความหมายของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จะพบว่าหลักการของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  หลักการสำคัญที่ครูผู้สอนควรคำนึงถึงมากที่สุดในการจัดกิจกรรมการเรียนการส อน  คือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติด้วยตน เอง เรียนในสิ่งที่ตนชอบสนใจและต้องการ ได้ลงมือกระทำจริงด้วยตนเองได้ใช้ทักษะด้านความคิด  การปฏิบัติงานและศึกษา หาคำตอบด้วยตนเอง  การเรียนรู้ต้องเป็นไปตามกระบวนการและให้นักเรียนได้ปฏิบัติลงมือทำงานให้ มากที่สุด  ครูเป็นผู้วางแผนการ  เตรียมการ ออกแบบการเรียนไว้ว่า  มีจุดประสงค์ในการเรียนรู้อะไร จะทำอย่างไร  ด้วยวิธีการใด  ใช้เทคนิคใด  ใช้หลักการและทฤษฎีการเรียนรู้ใด  ที่จะส่งผลให้นักเรียนสามารถเรียนรู้  ได้ตามที่ตั้งจุดประสงค์ไว้

คุณเข้าใจลักษณะของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างไร
                จาก การที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ด้านการสอนมากกว่า 30 ปี  มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างเพื่อนครูเป็นประจำ  หลังจากหน่วยงานทางราชการจัดอบรมสัมมนาผู้บริหาร
เพื่อนครู เพื่อให้ตื่นตัวและสร้างความตระหนักให้ครูนำหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้น ผู้เรียนเป็นสำคัญมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน  แต่จากการได้ยินเพื่อนครูร่วมวิชาชีพเกริ่นกล่าวถึงเรื่องการเรียนรู้ที่ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บ่อยครั้งที่ได้รับฟังความอึดอัดคับข้องใจของครู เช่น “ นักเรียนในโรงเรียนของเราส่วนใหญ่ขาดความรับผิดชอบ ถ้าปล่อยให้นักเรียนเรียนรู้ศึกษากันเอง มันจะได้ผลดีอย่างไร”  หรือ “ นักเรียนของหนูทำอะไรไม่เป็น ถ้าปล่อยให้ทำงานฝีมือกันเอง โดยที่ดิฉันไม่บอกหรือดูแล ไม่มีทางที่เด็กจะทำงานได้”   ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดในโรงเรียนที่ผู้เขียนเคย
สอนอยู่  หลังจากที่ผู้บริหารโรงเรียนเข้าประชุมสัมมนารับฟังหลักการปฏิรูปการเรียน รู้ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  หลังจากนั้นท่านก็เรียกครูประชุมเพื่อรับฟังหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้น ผู้เรียนเป็นสำคัญ และได้ออกคำสั่งให้ครูในโรงเรียนจัดโต๊ะนักเรียนใหม่ทั้งโรงเรียน โดยให้นักเรียนนั่งเป็นกลุ่มๆ หันหน้าเข้าหากัน จึงทำให้นักเรียนหลายคนหันหลังให้กระดานดำ โดยเน้นย้ำว่า “เพื่อการปฏิบัติตามหลักการของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ”  จากข้อมูลที่ยกตัวอย่าง  เราพบว่าการรับรู้ของครูทั่วไป ยังมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงอยู่มาก ผู้เขียนคิดว่าความคิดของครูและผู้บริหารบางคน จะส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่ครูเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มาเป็นการให้ผู้เรียนมีบทบาทที่จะเรียนรู้เองด้วยตนเอง  นับว่าเป็นสิ่งที่น่าห่วงต่อผลสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา  ความคลาดเคลื่อนบางประการต่อการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีดังนี้
     1.  ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญคือการปล่อยให้ผู้เรียน
ในห้องเรียนรู้กันเอง จากการมอบหมายงานของครู โดยครูไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่คอยตรวจผลการปฏิบัติงานที่มอบหมาย
     2.  ในการจัดการเรียนการสอนควรมอบหมายงานให้ผู้เรียนนำไปปฏิบัติงานด้วยตนเองที่ บ้านมากๆ  โดยครูไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องชี้แนะหรือแนะนำว่าควรไปหาแหล่งความรู้จากที่ใดบ้าง
     3.  การให้ผู้เรียนไปเรียนที่ห้องสมุด ปล่อยให้นักเรียนค้นหาคำตอบ อ่านหนังสือกันเอง แล้วเขียนรายงานส่งครู
     4.  ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ควรสอนเรื่องที่ผู้เรียนอยากเรียน โดยใช้มติส่วนมากของผู้เรียน จะสอนเรื่องใดก่อนหลังก็ได้
     5.  ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูไม่ต้องเตรียมการสอน
ก็ได้ เมื่อเข้ามาในห้องเรียนก็ถามผู้เรียนว่าวันนี้ ชั่วโมงนี้ต้องการเรียนเรื่องอะไร เมื่อผู้เรียนเสนอครูก็สอนเนื้อหาที่ผู้เรียนเสนอ เป็นการสอนความรู้นั้นในทันทีแบบสดๆ
     6.  ในการจัดการเรียนการสอนทุกครั้งต้องให้ผู้เรียนนั่งเป็นกลุ่ม เพื่อให้ปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อหาคำตอบที่ครูมอบหมายให้ทำ
     7.  การจัดการเรียนการสอนโครงงาน  เป็นการเรียนการสอนที่ คือการปล่อยให้ผู้เรียนเลือกโครงงานเอง หาแหล่งเรียนรู้กันเอง ปฏิบัติงานกันเอง จนโครงงานนั้นสำเร็จ ครูห้ามแนะนำผู้รียนในการเลือกโครงงานนักเรียนจะเลือกทำอะไรก็ได้ โดยครูนั่งอยู่เฉยๆ ดูผลสำเร็จของโครงงานเท่านั้น
     8.  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เหมาะสมกับการเรียนที่เน้นการปฏิบัติงาน เช่น วิชาพละ วิชาดนตรี การงานอาชีพ เท่านั้น
     9.  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เหมาะสมกับวิชาที่มีเนื้อหาไม่ยากนัก ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เอง  ไม่เหมาะสมกับเนื้อหาที่เป็นกฎเกณฑ์ หรือทฤษฎีตายตัว เช่น วิชาคณิตศาสตร์หรือภาษาอังกฤษ และเหมาะสมกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น
     10.  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นเพียงกระแสความคิดใหม่ เหมือนของใหม่เป็นแฟชั่น เพราะไม่มีใครทำได้มีอุปสรรคมากมาย
ความคลาดเคลื่อนของความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็น สำคัญที่นำมากล่าว เป็นบางส่วนที่มีอยู่จริง

บทบาทของครูในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้าง
กรมวิชาการ (2544  :  5 –9 ) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ ว่า บทบาทของครูในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีดังนี้
     1  พัฒนาตนเองอยู่เสมอ  โดยการศึกษาค้นคว้า  วิจัยให้มีความรู้ความสามารถ
ในการจัดการเรียนรู้
     2.  ออกแบบการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นหลัก
     3.  จัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย  เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของตน
     4.   สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อม  ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้โดย
ยึดหลักว่าทุกสถานที่  ทุกแห่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ และทุกแห่งที่พบล้วนเป็นสื่อการเรียนรู้
     5.  ให้อิสระผู้เรียนในการแสวงหาความรู้  ความคิดด้วยการปฏิบัติจริง
     6.  ให้คำปรึกษา  แนะนำ  เสริมแรง  และเป็นตัวแบบที่ดี เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  ยอมรับ และพัฒนาตนเอง  ไปสู่การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
วิเศษ   ชิณวงศ์  (2544  :  36) กล่าวถึงบทบาทของครูที่จัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ว่าใน การจัดการเรียนการสอนครูควรปฏิบัติดังนี้
     1.   ครูช่วยจัดบรรยากาศในการเรียนรู้และสรุปสาระการเรียนรู้ร่วมกัน
     2.   การจัดการเรียนรู้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
     3.   สาระการเรียนรู้มีความสมดุล  เหมาะสมกับวัย  ความถนัด  ความสนใจของผู้เรียน
     4.   มีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเพียงพอ
     5.   ครูเป็นกัลยาณมิตรกับผู้เรียน มีกิจกรรมร่วมกัน
     6.   สาระและกระบวนการเรียนรู้  ควรเชื่อมโยงกับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว  นำผลการเรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
     7.   กระบวนการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชุมชน  ครอบครัว  องค์กรต่าง ๆ เพื่อสร้าง
ความสัมพันธ์ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  ได้ประโยชน์สูงสุด  ครูเป็นผู้วางแผนการ  เตรียมการ ออกแบบการเรียนไว้ว่า  มีจุดประสงค์ในการเรียนรู้อะไร จะทำอย่างไร  ด้วยวิธีการใด  ใช้เทคนิคใด  ใช้หลักการและทฤษฎีการเรียนรู้ใด  ที่จะส่งผลให้นักเรียนสามารถเรียนรู้  ได้ตามที่ตั้งจุดประสงค์ไว้
                จะ เห็นได้ว่า การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่มีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง มีหลักการและแนวปฏิบัติหลากหลายเป็นขั้นตอน  กระบวนการเพื่อจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามเป้าหมายของผู้เรียนและผล จากการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจะต้องให้ผู้เรียนเกิด คุณลักษณะนิสัย ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร  เป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ศักยภาพของครูผู้สอน ว่ามีความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้อย่างไร  
เริ่มตั้งแต่ครูต้องรู้หลักสูตร ต้องรู้หลักการออกแบบการจัดการเรียนรู้ตามลักษณะของวิชาที่ได้รับมอบหมาย  ครูต้องสามารถสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ครูต้องเป็นที่ปรึกษาแนะนำ  ครูต้องทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล  ครูต้องหาศึกษาข้อมูลเลือกแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และครูต้อมีสามารถเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ ระหว่างชุมชน ครอบครัว
และองค์กรต่างๆ  แต่ละองค์ประกอบขององค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้ เรียนเป็นสำคัญ เป็นเรื่องเก่าที่นำมาเล่ากันใหม่ และเป็นเรื่องที่ท้าทายของผู้บริหารและครูผู้สอนและการศึกษาของไทยอาจจะต้อง มีการปฏิรูปการศึกษากันไปเรื่อยๆ  ถ้าครูส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการสอนแบบเดิมๆ ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในการ ศึกษาของไทย ประสบความล้มเหลวท่านผู้ที่เกี่ยวกับการศึกษาคงจะทราบดีและหาแนวทางแก้ไขต่อ ไป